ใช้เวลาอ่าน 1 นาที
ท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า NPL มาบ้างแล้ว หรือไม่ก็อาจได้ยินคำว่า ‘หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้’ จากรายการข่าวตามทีวี วิทยุ หรือบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจว่า ทำไมคำนี้ในแวดวงทางการเงินและเศรษฐกิจถือว่าน่ากลัว แล้วสิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับบุคคลที่ถูกมองว่าเป็น NPL บ้าง และทำไมเราถึงควรประกอบกิจการโดยหลีกเลี่ยงพาตัวเองนำไปสู่ภาวะ NPL นี้ ในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กัน
| NPL คืออะไร
NPL เป็นคำย่อของ Non-Performing Loan ที่แปลได้ว่า “เงินให้สินเชื่อที่ค้างชำระเงิน” หรือ “หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินปล่อยให้กู้” ที่เกิดขึ้นมาจาก ผู้กู้ยืมสินเชื่อ กู้ยืมเงินนั้นๆ ไปแล้วจงใจไม่ชำระหนี้ อย่างต่อเนื่อง 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นการยกระดับจากสถาบันการเงินที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ในกรณีไม่จ่ายหรือจ่ายล่าช้ากว่าปกติ 30-90 วัน อารมณ์เดียวกันกับที่บางคนกล่าวติดตลกว่า ไม่หนี-ไม่มี-ไม่จ่าย
สำหรับกรณีการเป็น NPL เกี่ยวกับสินเชื่อรถยนต์จะชัดเจนกว่าสินเชื่อการเงินอื่นๆ ตรงที่ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์ (ตัวรถยนต์ที่ทำการเช่าซื้อ) ได้ทันทีเมื่อค้างชำระครบ 3 เดือน ส่วนทรัพย์สินอื่นนั้นจะมีกรรมวิธีติดตามที่ต่างกันไป
| NPL ส่งผลอย่างไรกับคนชักหนี้
การจงใจชักหนี้หนีนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกหนี้ โดยถูกระบุเป็น “บุคคลล้มละลาย” ทำให้สถาบันทางการเงินปฏิเสธการทำธุรกรรมการเงินใดๆ ก็ตามที่มีชื่อท่านอยู่ เช่น การยื่นกู้เงิน หรือซื้อสินค้าชิ้นใหญ่พร้อมจัดไฟแนนซ์ จะถูกปัดตกอย่างรวดเร็ว ยากต่อการที่จะทำกิจการใดๆ ก็ตาม ไม่นับในเรื่องหมายศาลที่เจ้าหนี้จะยื่นฟ้องร้องตัวท่านเอง แน่นอนว่าไม่มีเจ้าหนี้คนใดพึงพอใจนัก เพราะนี่คือการผิดสัญญาโดยตรง
ถึงแม้ท่านจะผ่านพ้นช่วงเวลาชักหนี้มาแล้ว แต่โลกที่มีบันทึกไว้เกือบทุกอย่าง อาจทำให้ท่านยากต่อการทำธุรกรรมทางการเงินต่อ เช่น กู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่ ด้วยเหตุนี้ หนี้นอกระบบจึงเป็นที่นิยมกัน แต่เป็นทางเลือกที่ไม่อยากแนะนำให้เลือกใช้นัก ด้วยแนวทางการติดตามหนี้สินอาจรุนแรง (ที่อาจถึงขั้นเสี่ยงต่อชีวิต) และการเสียดอกเบี้ยที่สูงกว่าในระบบอย่างมาก
| NPL ส่งผลอย่างไรกับสังคมโดยรวม
ตัวเลขของผู้ติด NPL ของแต่ละธนาคาร ถ้ามีตัวเลขสูงจะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน ถ้าจำนวนเลขที่ติดตามทวงหนี้ไม่ได้มียอดรวมสูง ธนาคารจะเข้มงวดในการประเมินการปล่อยกู้สินเชื่อต่อลูกค้ามากขึ้น ที่อาจยากอยู่แล้วถ้าสถานการณ์ภาพรวมแย่ เช่น อยู่ในภาวะโรคระบาด เป็นต้น
เมื่อการปล่อยสินเชื่อน้อยลง จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจในประเทศที่แย่ลงได้ เพราะส่วนหนึ่งเงินกู้ของสถาบันการเงินนั้น มักเกิดจากการหมุนเวียนจากผู้กู้ยืมคนก่อนๆ และจากดอกเบี้ยที่จ่ายๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เมื่อกิจการหรือตัวบุคคลไม่สามารถกู้เงินได้ อาจทำให้เงินหมุนเวียนต่ำลง เศรษฐกิจเติบโตต่ำหรือแย่ลง ผู้คนไม่กล้าใช้จ่ายใดๆ นั่นเอง
| แล้วจะทำอย่างไรเพื่อเลี่ยงการเป็น NPL
“ชำระหนี้” เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่หลีกเลี่ยงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องจ่ายตามยอดที่เรียกเก็บเสมอไป ในกรณีที่ท่านไม่มีจริงๆ ลำพังแค่เอาชีวิตรอดก็แย่แล้ว ท่านสามารถแจ้งจำนงขอปรับยอดหนี้ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับเงื่อนไข หรือการเจรจาระหว่างท่านกับเจ้าหนี้ ซึ่งอย่างน้อยการเป็นเจ้าหนี้ ส่วนใหญ่จะยอมเรียกเก็บหนี้บางส่วนได้ มากกว่าจะถูกชักหายไปทั้งก้อนเลย
สำหรับเจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ มีทุนมากน้อยเพียงใด ก็มักมีการกู้ยืมเสียส่วนใหญ่ทั้งนั้น เพื่อการขับเคลื่อนและก้าวหน้าในกิจการ แต่บางทีก็ไม่คล่องมากพอจะจ่ายหนี้ดั่งคาด จนในหลายรายกลายเป็น NPL กันเลยทีเดียว สำหรับท่านเจ้าของที่ลำบากในการประกอบกิจการในช่วงเวลานี้ ก็มีโครงการ DR BIZ โครงการแจ้งความประสงค์ขอรับการแก้ไขหนี้ ในกรณีที่กิจการท่านอาจเข้าข่าย โดยยื่นคำขอได้เองที่ https://www.bot.or.th/app/drbiz
ที่มา : ข้อมูลจาก greedisgoods