เนื่องจากปัจจุบันผู้คนเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่นิยมประกอบอาหารเพื่อบริโภคเองเหมือนดังแต่ก่อนแล้ว และเปลี่ยนมาเป็นบริโภคอาหารนอกบ้านหรืออาหารปรุงสำเร็จเพิ่มมากขึ้นแทน… นี่เป็นเหตุผลจากการประกาศใช้กฎกระทรวง เรื่อง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 135 ตอนที่ 42 ก เพื่อต้องการให้สถานที่จำหน่ายอาหารมีสุขลักษณะที่ดี โดยมีมาตรการในการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารระบุข้อปฏิบัติไว้เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว
แน่นอนว่าร้านอาหารก็ย่อมต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับร้านอาหารด้วย ดังนั้น เราได้แยกประเด็นต่างๆ จากกฎกระทรวงทั้งหมด 22 ข้อ มาสรุปเป็นใจความสำคัญให้ทุกท่านได้อ่านง่ายๆ แล้วตามรายละเอียดดังนี้
| สถานที่จัดเตรียมอาหาร ปรุงอาหาร และจำหน่ายอาหาร
- โต๊ะสำหรับเตรียมอาหารหรือประกอบอาหารต้องมีสภาพดี สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 ซม. พื้น ผนัง และเพดาน วัสดุต้องแข็งแรง ไม่ชำรุด ทำความสะอาดง่าย ในส่วนของร้านอาหารต้องมีการระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอ
- โต๊ะและเก้าอี้สำหรับลูกค้านั่งรับประทานต้องแข็งแรง สภาพดี ไม่ชำรุด ภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ต่างๆ ต้องสะอาดและทำจากวัสดุที่ปลอดภัย เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท และมีการป้องกันการปนเปื้อนที่เหมาะสม จัดเก็บไว้ในที่สะอาด โดยวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 ซม.
- ตู้เย็น ตู้แช่ ตู้อบ เตาอบ เตาไมโครเวฟ หรืออุปกรณ์เตรียมอาหาร ต้องสะอาด มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย สภาพดี และไม่ชำรุด
| สุขลักษณะของอาหารและการเก็บรักษา
- วัตถุดิบต้องสด สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่วางบนพื้น ทั้งนี้รวมถึงอาหารแห้ง เครื่องปรุงรส หรือสิ่งอื่นใดที่นำมาใช้ประกอบอาหารด้วย ส่วนอาหารปรุงสำเร็จต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาด มีการป้องกันการปนเปื้อน วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 ซม.
- น้ำดื่มหรือเครื่องดื่ม หากอยู่ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทต้องได้มาตรฐาน วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 ซม. แต่หากเป็นน้ำดื่มหรือน้ำใช้ปรุงอาหาร ต้องวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 ซม. และต้องมีคุณภาพไม่ต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพน้ำที่กรมอนามัยกำหนด
- น้ำแข็ง ให้ใช้น้ำแข็งที่สะอาด เก็บในภาชนะสภาพดี มีฝาปิด มีที่คีบหรือตักโดยเฉพาะ วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 ซม. ปากขอบภาชนะสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 ซม. และห้ามนำอาหารหรือสิ่งของอื่นไปแช่รวมกับน้ำแข็งสำหรับบริโภค
| สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร
- ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะนำโรคติดต่อ โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ หรือโรคอื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น ในกรณีที่เจ็บป่วยต้องหยุดปฏิบัติงานและรักษาให้หายก่อนจึงกลับมาปฏิบัติงานได้
- ผู้สัมผัสอาหารต้องสวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาด และสามารถป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหารได้
| สุขอนามัยและความปลอดภัย
- สถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีการจัดการสารเคมี สารทำความสะอาด วัตถุมีพิษ ที่อาจเป็นอันตรายต่ออาหาร ต้องจัดเก็บแยกเป็นสัดส่วนต่างหากจากบริเวณที่ใช้ปรุง จำหน่าย บริโภคอาหาร และห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลงในการประกอบอาหารบนโต๊ะสำหรับรับประทานในที่จำหน่ายอาหาร
- หากมีห้องน้ำ ต้องสะอาด พร้อมใช้ ระบายน้ำได้ดี พื้นไม่มีน้ำขัง ต้องแยกเป็นสัดส่วน ไม่อยู่รวมกับบริเวณปรุงอาหารและรับประทานอาหารของลูกค้า แต่ก็สามารถอยู่ใกล้กันได้ เพียงต้องมีฉากกั้น และประตูห้องน้ำต้องปิดไว้ตลอดเวลา
- การจัดการเกี่ยวกับขยะมูลฝอย กำหนดให้ถังขยะอยู่ในสภาพดี ไม่รั่วซึม มีฝาปิด เศษอาหารแยกจากมูลฝอยประเภทอื่น และต้องดูแลความสะอาดพื้นที่โดยรอบตัวถังอยู่เสมอ ในส่วนจัดการน้ำเสียต้องระบายน้ำดี ไม่มีน้ำขังหรือเศษอาหารตกค้าง ต้องมีการแยกไขมันก่อนระบายน้ำทิ้ง โดยใช้ถังดักไขมัน หรือบำบัดด้วยวิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่าการบำบัดด้วยถังดักไขมัน
| บทลงโทษ |
- เจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจส่งหนังสือเรียกมาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบได้ รวมถึงสามารถยึดหรืออายัดสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้
- ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งและดูแลสถานที่ รวมถึงสุขลักษณะของบริเวณที่ใช้เก็บรักษาวัตถุดิบ ปรุงอาหาร จำหน่ายอาหาร บริโภคอาหาร* ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ**
เชื่อว่าหลายท่านคงต้องเคยเจอกับร้านที่แม้แต่จะเดินเข้าไปยังไม่กล้า หรือความสดใหม่ของวัตถุดิบก็ไม่น่าไว้ใจ ทั้งหมดนี้เราอาจทำได้แค่เลี่ยงไป แต่เราต้องอย่าให้ร้านของเราเป็นอย่างนั้นด้วยเด็ดขาด! ท้ายที่สุดผู้บริโภคทุกคนที่ตัดสินใจไปร้านอาหารใดก็ตาม เขาเพียงหมายมาดว่าจะต้องได้รับประสบการณ์ที่ดีจากร้านนั้น และผลลัพธ์ดีๆ ที่อาจตามมาได้ก็คือ ลูกค้าจะกลับมาใช้บริการซ้ำที่ร้านของคุณในโอกาสต่อไปแน่นอน
*มาตรา ๔๐ (๒) (๓) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
**มาตรา ๗๓ พระราชบัญญัติ การสาธารณสุข (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐
คุณสามารถติดตาม “กฎหมายคุ้มครองพนักงานที่เจ้าของธุรกิจร้านอาหารต้องรู้” ได้โดย …คลิกที่นี่…
ที่มา : ข้อมูลจาก ratchakitcha.soc.go.th
Pingback: Editor’s Talk : กฎเหล็กร้านอาหาร – :: True Smart Merchant Academy ::