อย่างที่รู้กันดีว่าธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ให้บริการผ่านอาหาร จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานได้เลย แต่ก็ยังพบว่าผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองพนักงาน จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายสุ่มเสี่ยงที่จะการกระทำความผิดต่อกฎหมาย เมื่อเกิดปัญหาจนทำให้มีกรณีพิพาทโอกาสที่ผู้ประกอบการจะตกเป็นฝ่ายกระทำความผิดนั้นสูงกว่า และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารของคุณได้
วันนี้เราจึงนำกฎหมายการจ้างพนักงานร้านอาหารที่เจ้าของร้านอาหารต้องทราบมาให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความถูกต้อง
ข้อบังคับการทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 108 กำหนดให้ “นายจ้างประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป และให้นายจ้างจัดเก็บสําเนาข้อบังคับนั้นไว้ ณ สถานประกอบกิจการ หรือสํานักงานของนายจ้างตลอดเวลา โดยเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทํางานของลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบและดูได้โดยสะดวก” และข้อบังคับอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการดังต่อไปนี้
| เวลาในการทำงาน และเวลาพัก
เวลาทำงานปกติตามที่กฎหมายกำหนดจะไม่เกิน 8 ชม./วัน หรือตามที่ผู้ประกอบการกับพนักงานตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปร้านอาหารมักจะเปิดบริการไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารจึงต้องจ้างพนักงานเป็น 2-3 กะ โดยขึ้นอยู่กับเวลาเปิด-ปิด ของแต่ละร้าน
ระหว่างการทำงานปกติพนักงานมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. ติดต่อกัน หรืออาจตกลงกันพักเป็นช่วงๆ ก็ได้ และหากให้พนักงานทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 2 ชม. ผู้ประกอบการต้องจัดเวลาให้พนักงานพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที
| วันหยุด
- วันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน หรืออาจตกลงกันว่าสามารถสะสมวันหยุด และเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
- วันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี รวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น แต่สำหรับงานร้านอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ สามารถตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าจ้างทำงานในวันหยุดให้กับพนักงานได้
- วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับพนักงานที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าให้สามารถสะสมวันหยุด และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อๆ ไปได้
| การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด
อาจให้พนักงานร้านอาหารทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น ถ้าลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป หากหยุดจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อร้านอาหาร หรือเป็นงานฉุกเฉิน แต่เมื่อรวมเวลาทำงานแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์
| ค่าตอบแทน
- ค่าตอบแทนปกติ ต้องจ่ายไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด และผู้ประกอบการต้องจ่ายเป็นเงินเท่านั้น หากเวลาทำงานปกติเกิน 8 ชม./วัน ให้จ่ายค่าตอบแทนแก่พนักงานไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันทำงาน
- ค่าจ้างในวันหยุด ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันหยุด ยกเว้นพนักงานรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์
- ค่าจ้างในวันลา ผู้ประกอบการจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อทำหมัน จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหาร ไม่เกิน 60 วัน/ปี จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร ไม่เกิน 45 วัน/ครรภ์
| หลักเกณฑ์การลา
พนักงานต้องแจ้งเหตุในการลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ให้ผู้ประกอบการรับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันลา (ยกเว้นลาป่วย) ผู้ประกอบการอาจไม่อนุญาตให้ลาหากในปีที่ลาพนักงานเคยได้รับอนุญาตให้ลามาแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้ง หรือแสดงได้ว่าการลาของพนักงานอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการประกอบธุรกิจร้านอาหาร
| บทกำหนดโทษ
กฏหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฏหมายที่มีบทลงโทษทางอาญา หากผู้ประกอบการท่านใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีบทกำหนดโทษขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าความรู้ทางด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองพนักงาน ควรปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย เพื่อให้ร้านอาหารของคุณเกิดการจ้างพนักงานอย่างถูกต้อง และป้องกันการกระทำความผิดที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร้านอาหารของคุณเองได้
นอกจากนี้ คุณยังสามารถศึกษารายละเอียดของ “กฎกระทรวง” ข้อกำหนดที่ร้านอาหารต้องปฏิบัติ เพิ่มเติมได้ โดย …คลิกที่นี่…
ที่มา : ข้อมูลจาก กระทรวงแรงงาน, เพื่อนแท้ร้านอาหาร, Amarinacademy
Pingback: Editor’s Talk : สภาวะฝุ่น – :: True Smart Merchant Academy ::
Alish
ดีค่ะ