ต้องยอมรับว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่การซื้อขายสะดวกสบายมากขึ้น และทุกอย่างดำเนินการบนโลกออนไลน์ นาทีนี้คงไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ไม่รู้จัก “E-Commerce” แล้ว
E-Commerce หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การดำเนินธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับซื้อขายสินค้า และใช้เป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการและรายได้ ขณะเดียวกันก็สามารถลดบทบาทองค์ประกอบทางธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมากมาย
เมื่อผู้ประกอบการอาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินกิจการ นอกจากจะทำให้ขยายฐานลูกค้าได้ในวงกว้างแล้ว ก็ยังสามารถสร้างรายได้จากสินค้าที่จำหน่ายผ่านโลกออนไลน์ได้มากขึ้นด้วย ในทางกลับกันเจ้าของธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องมีรากฐานองค์กรอะไรมากมาย ไม่ต้องวุ่นวายหาทำเลที่ตั้งหน้าร้าน โกดังเก็บสินค้า ลงทุนเช่าสถานที่เพิ่มเพื่อจัดจำหน่าย รวมถึงการรับสมัครพนักงานในตำแหน่งต่างๆ ยิ่งเป็นการลดต้นทุนและสามารถเสริมสร้างรายได้ไปพร้อมกัน
สำหรับเจ้าของธุรกิจท่านใดที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นสร้างร้านค้าบนโลกออนไลน์ที่ไหนดี หรือท่านที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่แน่ใจว่าเลือกใช้ถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับรูปแบบของ E-Commerce กันว่ามีอะไรบ้าง
- B2B (Business to Business) เป็นการค้าขายระหว่างธุรกิจสู่ธุรกิจ
- B2C (Business to Consumer) เป็นการค้าขายสินค้าระหว่างธุรกิจสู่ผู้บริโภคโดยตรง
- C2C (Consumer to Consumer) เป็นการค้าขายสินค้าระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง
- B2B2C (Business to Business to Consumer) เป็นการค้าขายเชื่อมระหว่าง B2B และ B2C เข้าด้วยกัน
เมื่อรู้ว่าธุรกิจของเราตรงกับรูปแบบใดแล้ว เราก็จะสามารถเลือกแพลตฟอร์มสำหรับดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้อย่างเหมาะสมขึ้น ส่วนแพลตฟอร์มที่จะกล่าวถึงนี้ คือระบบหลังบ้านที่แต่ละร้านค้าจะต้องมีเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของธุรกิจจะต้องใส่ใจ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรของระบบ การใช้งานที่สะดวกและง่ายต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย การเก็บรักษาข้อมูลที่ดี และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ “ความน่าเชื่อถือ” เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า การเลือกใช้แพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้ามากที่สุดด้วย
ข้อควรพิจารณาในการเลือกแพลตฟอร์ม มีดังต่อไปนี้
| การบริหารจัดการระบบร้านค้า
- ทุกวันนี้เจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องเป็นนักธุรกิจก็สามารถมีร้านค้าออนไลน์ของตัวเองได้แล้ว แต่บางท่านก็อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องของการสร้างหรือออกแบบเว็บไซต์ได้เองมากนัก ปัจจุบันจึงมีแพลตฟอร์มสำเร็จรูปมากมายมาให้เลือกใช้ สามารถช่วยให้ลงสินค้าสำหรับขายแล้วเปิดร้านค้าได้อย่างรวดเร็ว เช่นนี้แล้วร้านค้าออนไลน์ของคุณก็จะสามารถดำเนินกิจการได้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้แหละที่จำเป็นจะต้องเลือกให้ดี ต้องพิจารณาว่าระบบหลังบ้านที่มีไว้ให้ใช้งานนั้น ใช้งานง่ายหรือไม่ มีรายละเอียดตามที่เราต้องการหรือไม่ เช่น ระบบสต๊อก ข้อมูลที่ใช้ในการลงขาย ระบบตรวจสอบออเดอร์ ฯลฯ และระบบนั้นเสถียรมากหรือไม่ เป็นต้นว่าระบบประมวลผลผิดพลาด เสียบ่อย เช่นนี้ก็อาจจะต้องมองข้ามแพลตฟอร์มนั้นไป
| การเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย
- สำหรับร้านค้าที่เคยโพสต์ขายสินค้าใน Facebook หรือ Instagram มาก่อน แม้ว่าเราจะมีร้านค้าออนไลน์แล้วก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้ง แน่นอนว่าการเปิดร้านค้าออนไลน์เราก็ยังสามารถใช้ในส่วนนั้นเพื่อช่วยดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น ฃณะเดียวกันก็ใช้โปรโมทร้านค้าของเราได้ด้วย เราสามารถใช้เป็นสื่อการตลาด แจ้งโปรโมชั่นหรือข้อมูลข่าวสารให้ลูกค้าประจำรับรู้ได้
- ในส่วนของลูกค้าที่ผ่านเข้ามาในแพลตฟอร์มก็มีมากเช่นกัน และไม่จำเป็นว่าจะต้องมากด Follow ร้านของเราถึงจะเห็นสินค้าของเรา แล้วเมื่อแพลตฟอร์มของเรามีส่วนที่สามารถระบุหรือเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียที่ร้านเรามีได้ ก็จะทำให้สื่อประชาสัมพันธ์ของร้านเรากว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งทราฟิกของลูกค้าก็มากขึ้นเช่นกัน
| การจัดการสต็อกสินค้า
- ในแพลตฟอร์มที่มีส่วนปลีกย่อยของระบบสต็อกสินค้า จะช่วยให้ท่านสามารถจัดการสต็อกที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถตรวจสอบและเห็นข้อมูลที่เรามีว่าเรามีสินค้าอยู่เท่าไร ซื้อมาขายไปเท่าไรบ้าง ในส่วนนี้ก็จะทำให้เราสามารถจัดระเบียบรายรับ-รายจ่ายเกี่ยวกับสต็อกสินค้าได้รวดเร็วและชัดเจนมากกว่าเดิม
| ระบบชำระเงิน
- ดังที่กล่าวข้างต้นว่าเรื่องความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญ ระบบชำระเงินก็เป็นส่วนที่ทำให้ลูกค้ากังวลอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการโอนหรือชำระเงินให้โดยตรงแก่ร้านค้า แต่หากว่าแพลตฟอร์มที่คุณใช้มีระบบการจัดการเกี่ยวกับการชำระเงินของลูกค้าที่ดี อีกทั้งช่องทางการชำระเงินก็หลากหลาย ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าสะดวกชำระเงินแบบใด เช่นนี้ก็จะทำให้ลูกค้ามั่นใจและตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้รวมถึงเงื่อนไขการคืนเงินที่ทางแพลตฟอร์มซัพพอร์ต ก็จำเป็นจะต้องมีมาตรการที่ดีและรัดกุม เป็นประโยชน์กับทั้งร้านค้าและลูกค้าด้วย
| ทีมสนับสนุนจากเจ้าของแพลตฟอร์ม
- แน่นอนว่าปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ยิ่งเมื่อเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ บางครั้งก็ยากจะเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะขั้นตอนและรายละเอียดก็มีมาก หากเราศึกษาได้ไม่ครบถ้วนก็อาจจะทำให้เกิดความสับสนในระหว่างใช้งานได้ แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าระบบจะไม่มีวันผิดพลาดเลย บางทีก็อาจจะเกิดจากทีมสนับสนุนที่กำลังพัฒนาระบบหรือมีการแก้ไขอะไรบางอย่างที่ส่งผลต่อระบบหลังบ้านของร้านค้าออนไลน์ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่าทีมสนับสนุนของแพลตฟอร์มที่เราเลือกใช้นั้น แก้ปัญหาหรือไขข้อข้องใจให้เราได้แค่ไหน รวดเร็วหรือไม่ เพราะหากส่งผลถึงการซื้อขายของสินค้าแล้ว นอกจากจะทำลายความน่าเชื่อถือของร้าน ลูกค้าก็จะพานไม่เชื่อถือร้านค้าของเราไปด้วยได้
หลักจากพิจารณารูปแบบธุรกิจและแพลตฟอร์มแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับธุรกิจคุณแล้ว คุณควรศึกษาและทำความเข้าใจแพลตฟอร์มนั้นๆ ให้ดีในระดับหนึ่งเสียก่อน เพราะเป็นไปได้ที่การลงมือใช้งานจริงอาจจะไม่เหมือนกับที่คิดไว้ตอนแรกก็เป็นได้ เมื่อมั่นใจว่าแพลตฟอร์มที่เลือกเหมาะสมแล้ว คุณก็สามารถดำเนินธุรกิจได้เลย เริ่มต้นอาจทุลักทุเล แต่เชื่อว่าเมื่อใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง ธุรกิจของคุณก็จะไหลลื่นขึ้นเอง และเมื่อเดินมาในเส้นทางที่ถูกต้องและไปได้ดี ก็ต้องบอกว่าแพลตฟอร์มนั้นๆ เหมาะสมกับรูปแบบ E-Commerce ของคุณที่สุดแล้ว
ที่มา : ข้อมูลจาก mindphp, thanawat
Pingback: EP19. หลักพื้นฐานเลือกแพลตฟอร์ม E-Commerce (4 นาที) – :: True Smart Merchant Academy ::
ไชยยศ
เป็นโอกาศที่ดีมีช่องทางเปิดกว้างมาขึ้น