ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจประเภทอีคอมเมิร์ซ… หรือธุรกิจประเภทร้านอาหาร ล้วนเคยต้องใช้บริการขนส่งด่วนหรือ express delivery ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถขนส่งสินค้าทั้งรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร หรือรถปิกอัพส่งพัสดุสินค้าที่วิ่งอยู่บนท้องถนน โดยบริการ express delivery กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากด้วยมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจากปี 2560 เกือบ 2 เท่า จากนักลงทุนไทยรายใหม่รวมถึงกลุ่มทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาแบ่งเค้กก้อนโตนี้ นอกจากบริษัทขนส่งด่วนรายใหญ่แล้ว ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจขนส่งสินค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามากถึง 570 ราย ทั้งผู้ให้บริการขนส่งแบบเดิมที่ผันตัวมาเป็นธุรกิจขนส่งด่วน และผู้ประกอบการรายใหม่หรือกลุ่ม startup ด้านการขนส่ง แต่รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจลักษณะนี้ยังไม่มีกฎหมายที่รองรับชัดเจน…
| กฎหมายยังตามไม่ทันสภาพการณ์ปัจจุบัน
ขณะที่ธุรกิจ express delivery ได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่การกำกับดูแลธุรกิจดังกล่าวยังคงล้าสมัย โดยกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนส่งด่วน คือ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่งสินค้าต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และต้องจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้รับจ้างขนส่งสินค้า โดยปัญหาของกฎหมายดังกล่าวคือ
- กำหนดให้รถที่ใช้ในการรับจ้างต้องเป็นรถขนาดใหญ่ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเท่านั้น แต่รูปแบบการขนส่งด่วนในปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกใช้รถขนาดเล็ก อย่างรถปิกอัพหรือจักรยานยนต์ เพื่อจัดส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ขนาดเล็ก และเน้นส่งสินค้าภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เช่น การจัดส่งภายในวันเดียว (same day) หรือภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง (on-demand delivery)
- เมื่อกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกยังไม่อนุญาตให้ใช้รถขนาดเล็กเพื่อรับจ้างขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการขนส่งส่วนมากจึงเลือกนำรถปิกอัพไปจดทะเบียนเป็นรถขนส่งส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 หากแต่กฎหมายดังกล่าวห้ามไม่ให้นำรถขนส่งส่วนบุคคลมาใช้ในกิจการรับจ้าง หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท อีกทั้งผู้ประกอบการจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 จากการใช้รถผิดประเภท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
| การเสนอแนะวิธีหาทางออกอย่างถูกต้อง
แม้ว่าสถิติของกรมการขนส่งทางบกยังไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่ใช้รถผิดประเภท แต่หากเจ้าหน้าที่กวดขันการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้รถปิกอัพขนส่งสินค้าจะถือว่ามีความผิดจากการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายที่ยังไม่อนุญาตให้นำรถขนาดเล็กไปจดทะเบียนเพื่อรับจ้างขนส่งสินค้า ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควรทำการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจขนส่งด่วนดังนี้
- เพิ่มลักษณะรถยนต์ที่อนุญาตให้ใช้รับจ้างขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 จากเดิมกำหนดไว้เพียง 9 ประเภท ซึ่งล้วนแต่เป็นประเภทรถขนาดใหญ่ อาทิ รถบรรทุก 6 ล้อ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถนำรถปิกอัพมาจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างขนส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องฝ่าฝืนกฎหมาย และยังสร้างความชัดเจนต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่
- กรมการขนส่งทางบกควรจะขยายนิยาม ‘รถขนส่งส่วนบุคคล’ หรือการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถนำรถส่วนบุคคลมาใช้รับจ้างขนส่งสินค้าได้ อันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขับรถขนส่งรายย่อยหรือบุคคลทั่วไปมีรายได้เสริม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการจากการลงทุนวางโครงข่ายขนส่งด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการบางรายอนุญาตให้ผู้ขับรถสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาร่วมวิ่งขนส่งสินค้า หรือการจัดหาคนขับที่มีรถขนส่งสินค้าเป็นของตนเอง
ทุกวันนี้หลายธุรกิจมีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยี ซึ่งธุรกิจ express delivery ก็เป็นหนึ่งในนั้น หากแต่กฎหมายไทยที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหลายฉบับถูกเขียนขึ้นเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ดังเช่นกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่เริ่มบังคับใช้เมื่อ 40 ปีก่อน หากภาครัฐไม่มีการทบทวนกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กฎหมายเหล่านั้นจะกลายเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งหลายได้ในอนาคต
ที่มา : รูปภาพและข้อมูลบางส่วนจาก bangkokbiznews