สำหรับท่านผู้ประกอบการบางท่าน อาจไม่ค่อยคุ้นกับคำว่า Design ในแง่ของธุรกิจ ว่ามีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ยิ่งคำภาษาไทยของคำนี้ที่ดูผูกติดกับ “การออกแบบ” ไม่ว่าจะเพื่องานทางศิลปะหรือความงามเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยแปลกใจที่ในแง่ของธุรกิจอาจมองข้ามในจุดนี้ไป เพียงเพราะว่าธุรกิจก็คือธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องการความสวยความงาม
แต่รู้หรือไม่ว่า Product Design สามารถใช้ในทางธุรกิจได้อย่างกลมกลืน!
เพราะการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบ ทดลอง ปรับแต่ง กระบวนการทำงานของกิจการบนฐานการปฏิบัติเหล่านี้ ต้องการคุณประโยชน์ทั้งในแง่ความสวยงามและฟังก์ชั่นการตอบโจทย์ปัญหาของผู้บริโภค ที่ใช้งานสินค้าและ/หรือบริการใดๆ ก็ตาม โดยมีความโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดในภาพรวมของกิจการ ลูกค้าสามารถสัมผัสความแตกต่างได้แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในแง่บริหารธุรกิจ ผลงานที่ออกมามีความสามารถและตรงโจทย์ของลูกค้า ทั้งที่ลูกค้าต้องการอยู่แล้ว หรือตอบโจทย์ในส่วนที่ลูกค้ายังมองไม่ถึงเสียด้วยซ้ำว่า ‘สิ่งนั้น’ ที่ใครต่อใครมีอยู่กันมาก่อนหน้านี้คือปัญหา และรู้สึกแปลกใจที่ธุรกิจนี้กลับสามารถตอบสนองความต้องการที่ไม่ได้คำนึงถึงมาก่อนได้
I ทำไม Product Design ถึงสำคัญ ?
บุคคลส่วนใหญ่เมื่อเริ่มทำธุรกิจ มักจะออกแบบสินค้าและบริการในแนวทาง “คุณลักษณะทางกายภาพหรือสรรพคุณ (Functional Benefit)” ซึ่งเป็นแนวทางพื้นฐานที่ทำกันได้โดยง่าย เช่น การขายน้ำดื่ม ที่ใครๆ ก็สามารถตั้งโรงงานกรองน้ำ บรรจุน้ำใส่ขวด ส่งขายได้ ส่วนในเรื่องของการออกแบบช่วยสร้าง ‘อารมณ์’ หรือ ‘บุคลิก’ ของสินค้าที่แตกต่างออกไป สิ่งนี้คือ “คุณลักษณะทางอารมณ์ (Emotional Benefit หรือ Emotional Value)” สิ่งนี้อ่อนไหวและสร้างความต่างไม่ให้ดูจำเจ บ้างอาจอยากซื้อน้ำดื่มไม่เพียงเพราะดับกระหาย แต่ดับกระหายอย่างมีสไตล์ คุณลักษณะทางอารมณ์ที่ดีพอ จะช่วยยกระดับแบรนด์ได้อีกทาง โดยเฉพาะการคงสถานะงานออกแบบให้โดดเด่นเฉพาะตัวในระยะยาว
I แล้ว Product Design มีกระบวนการอย่างไร ?
ในบทความนี้เราจะกล่าวแบบเป็นภาพรวมง่ายๆ ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายคลึงกับการทำการทดลองของพวกนักวิทยาศาสตร์ก็ว่าได้ เพียงแต่เราไม่ได้เจาะจงไปถึงขั้นนั้น
Analysis
- การวิเคราะห์นี้สำคัญที่การตีโจทย์ให้เห็นถึงสิ่งที่กิจการนั้นๆ ว่าตอบโจทย์ใครหรืออะไรบ้าง สิ่งที่พบง่ายที่สุดคือการตอบโจทย์ในปัญหาชีวิตประจำวันที่ยังไม่มีใครผลิตสินค้าและบริการมาตอบโจทย์นั้นๆ ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ท่านทราบดีอยู่แล้ว ในการรวมความคิดนี้อาจนำมาจากในทีมหรือเพื่อนพี่น้องของท่านมาขึ้นรูปเป็นเป็นแนวคิดเพื่อดำเนินกิจการ งานบริการ หรือสินค้า ที่จะทำต่อไป
Concept
- หลังจากการพินิจพิจารณาแล้ว มักจะมีการทดลองทำหรือทดลองแนวคิดที่ผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างละเอียด จนตกตะกอนได้แล้วนั้นมาลองปรับใช้กันดู ซึ่งอาจทดลองจริงหรือทดลองในวงแคบ เพื่อให้ภาพรวมนั้นดูชัดเจนเป็นประจักษ์เห็นชัด เพราะถ้าไม่ทดลองก็จะไม่รู้ผลลัพธ์ที่ออกแบบไว้ว่าที่จริงแล้วดีหรือไม่ดี
Synthesis
- สังเคราะห์ผลลัพธ์หรือประเมินสิ่งที่กิจการได้ดำเนินมา หรือผลจากการทดลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อดี ข้อเสีย โอกาส และอุปสรรค์ที่เผชิญ เพื่อนำไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จนได้เห็นชุดรูปแบบ แบบแผน การดำเนินการกิจการที่มีประสิทธิภาพกว่า หรือสินค้าที่ดีกว่าก่อน ทั้งดีต่อลูกค้าและดีต่อกิจการ
ตัวอย่างของ Product Design ที่มีใช้ในกิจการ จะพบได้จากกิจการอาหารอย่าง McDonald’s ที่ประเมินแนวการทำอาหารที่แตกต่างจากคู่แข่งในยุคสมัยแรกเริ่ม จากที่ใช้เวลาและต้นทุนมาก
สองพี่น้อง McDonald’s ออกแบบครัวให้กลายเป็นกึ่งโรงงาน แบ่งงานกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้นแบบบ้านๆ วาดผังห้องครัวลงบนสนามเทนนิสแล้วให้ลูกน้องสวมบทบาทเอา (แต่ทดลองจริง) ส่วนงานแพ็กเกจสินค้าก็ออกแบบแยกต่างหาก แล้วไปกระกบรวมกันที่หน้างาน เสิร์ฟเป็นเซตให้ลูกค้าจดจำภาพแพ็กเกจชัดเจน โดยตอบโจทย์ทั้งรสชาติอาหาร ความรวดเร็ว ความสะอาด ความไว้วางใจว่าไปที่ไหนก็เจอสินค้าและรสชาติเดียวกัน นี่จึงเป็นหนึ่งในกิจการที่สามารถยกเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ท่านผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องลงทุนมากจนเกินไปในทันทีประหนึ่งที่พี่น้อง McDonald’s เขากระทำ เพราะว่าความคิดสร้างสรรค์ที่หนักแน่นพอ จะสามารถสร้างคุณค่าได้อย่างมาก มากกว่าการนำเงินทุ่มลงทุนให้ดูมหึมาแต่แก่นสารของกิจการกลับช่างเปลืองเปล่า เราจึงเชื่อว่าการนำความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนี้ได้ จะสามารถยกระดับกิจการให้ยืนหยัดต่อไปได้แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
ที่มา : รูปภาพและข้อมูลบางส่วนจาก tmbbank, UX Collective, Sol Marketing
Pingback: Editor’s Talk : ดีไซน์สินค้าให้โดนใจ – :: True Smart Merchant Academy ::