ผู้ประกอบการอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า “Unique Selling Proposition” (USP) อย่างที่เราหยิบยกมากล่าวถึงนี้สักเท่าไร สำหรับวันนี้เราจะมาขยายความเกี่ยวกับคำนี้ เพื่อให้รู้ว่าคำๆ นี้หมายถึงอะไร นี่คือสิ่งที่แทบทุกธุรกิจต้องพึ่งพาเหมือนๆ กันหมด โดยเราจะมาขยายความและแนะนำตัวอย่างต่างๆ เพื่อให้ร้านค้าลองนำไปปรับใช้กัน
| อะไรคือ Unique Selling Proposition ?
Unique Selling Proposition (USP) คือกลยุทธ์ทางการดำเนินธุรกิจอย่างหนึ่ง เพื่อคงไว้ซึ่งพื้นที่ยืนในสมรภูมิหมู่มวลคู่แข่งอันมหาศาล โดย Unique คือความโดดเด่น อะไรก็ตามที่ทำให้ลูกค้าระบุได้ว่าธุรกิจหรือร้านคุณนั้นเด่นหรือไม่ได้เหมือนคู่แข่ง แม้จะขาย (Selling) สิ่งๆ เดียวกัน เช่น ร้านขายรองเท้า ที่ขายรองเท้าเหมือนร้านอื่น แต่ร้านคุณมีรองเท้า LED ที่หาได้ยาก ทำให้ลูกค้าที่ต้องการความแตกต่าง พุ่งเข้าหาและกล้าจ่ายสินค้าในราคาสูงกว่า เป็นต้น นี่แหละคือความแตกต่างดังกล่าว
| เราสามารถลอกจุดเด่นเขามาใช้เลยได้หรือไม่
“ไม่”
เพราะถ้าคุณทำธุรกิจเหมือนกับคนอื่น โดยมีสิ่งที่ลูกค้าต้องการเหมือนกับคู่แข่ง แล้วคุณจะมีอะไรไปแตกต่างล่ะ ? ถ้าคู่แข่งสามารถสร้างแต้มต่อจนดึงลูกค้าได้มากกว่า ส่วนคุณก็แค่ทำตามเขาโดยการคัดลอกมาตรงๆ ก็เป็นการยากที่ธุรกิจของคุณจะอยู่ต่อได้อย่างยั่งยืน
ฉะนั้น การหาจุดเฉพาะตัว (Unique) จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของผู้ประกอบการต้องออกแบบเองเพื่อให้ไม่ต้องฝืนความเป็นตัวตน ความชอบ หรือความถนัดของท่าน แล้วยังได้ใจลูกค้า ถ้าทำธุรกิจแบบไม่มีเป้าหมาย ผลงานมันก็จะดูออกว่าฝืนทำหรือใจรัก ถ้าฝืนทำ อาจทำให้ลูกค้าไม่เข้าหาร้านของคุณได้มากเพียงพอ จนคุณอาจตกที่นั่งลำบากเอาได้
ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจที่มีจุดแข็งด้านความเป็นเฉพาะตัว (Unique) จากจุดเล็กๆ จนขยายเป็นขนาดใหญ่โตในปัจจุบัน
- M&M’s – ละลายในปากไม่ละลายในมือ – ช็อกโกแลตเม็ดที่เขาใช้เทคนิค น้ำตาลกรอบ (Crisp Sugar Shell) เคลือบตัวเนื้อครีมไว้ มีจุดหลอมละลายที่สูงพอ ให้ไม่ละลายขณะอยู่บนฝ่ามือแต่ละลายเมื่ออยู่ภายในปาก ด้วยความแตกต่างจากขนมช็อกโกแลตอื่นๆ ทำให้เป็นแบรนด์นี้ติดตาผู้คนไปในแง่ ไม่เลอะมือก่อนกิน
- Krispy Kreme (คริสปีครีม) – ร้านโดนัท ที่ขายโดนัทเหมือนเจ้าอื่น แต่ต่างด้วยกรรมวิธี “ม่านน้ำตาล” ที่เขาจะละลายน้ำตาลให้เหลวจนไหลดั่งน้ำตกเล็กๆ แล้วเซ็ตให้แป้งโดนัทวิ่งผ่านม่านน้ำตกนั่น จึงทำให้ผิวโดนัททั้งเนียนทั้งมันวาว น้ำตาลไม่เป็นเม็ด มีความหวานเท่าๆ กัน เป็นเอกลักษณ์ที่ยากจะเลียนแบบได้
- Starbucks (สตาร์บัคส์) – ร้านกาแฟที่วางตัวเป็น “ที่ที่สามในชีวิต” (จากแนวคิดที่มนุษย์ส่วนใหญ่มักอยู่ระหว่าง บ้าน ที่ทำงาน และสถานที่ที่นอกเหนือสองสิ่งดังกล่าว) โดยเน้นบรรยากาศอบอุ่น ภายใต้รสชาติกาแฟที่คงเส้นคงวาในหลายสาขาไม่ว่าลูกค้าจะไปแวะสาขาไหนก็ตาม
- After You (อาฟเทอร์ ยู) – ร้านขายของหวาน ขนมนมเนย ที่สร้างชื่อจากความตั้งใจและความรักในการทำของหวาน เมนูเด่นอย่างฮันนี่โทสต์ที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับการทำการตลาดที่ดีจนเกิดกระแสลูกค้าแห่กันไปต่อคิวอย่างหนักหน่วง โดยไม่สนว่าต้องรอนานแค่ไหน
- KFC (เคเอฟซี) – ร้านไก่ทอดสูตรของคุณลุงผู้พันแซนเดอส์ ที่ล้มลุกคลุกคลานกับหลายกิจการแต่ก็ไม่สำเร็จเป็นสิบๆ อย่าง จนลองทำร้านไก่ทอดดู แต่เขาเลือกจะไม่ทอดไก่แบบธรรมดา แต่เลือกทอดไก่ในหม้ออัดแรงดัน มีการปรุงรสชาติไก่ก่อนนำไปทอด ดังเช่นที่เห็นในโฆษณาว่ามีสูตรลับสมุนไพรและเครื่องเทศ 11 ชนิด นอกจากนี้ยังเสิร์ฟในภาชนะทรง “ถัง” ด้วยทั้งวิธีการทำและการเสิร์ฟขายที่ไม่มีใครทำมาก่อน บวกกับความทุ่มเทของเขา ทำให้เป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารที่สาขาผุดเป็นดอกเห็ดอย่างทุกวันนี้
คำตอบนี้ผู้ประกอบการอาจมีภาพร่างในใจอยู่แล้ว แต่อาจต้องพึ่งพาการสำรวจลูกค้าที่มาเยี่ยมเยือนกันหน่อยว่า คุณต้องการจะขายสินค้าและบริการให้กลุ่มคนแบบใด แล้วเป้ามายที่ตั้งไว้บรรลุผลหรือไม่ มีหลายธุรกิจเติบโตเพราะลองผิดมาเยอะกว่าจะค้นหาวิธีการที่ถูกต้องเจอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเปิดใจ ปรับเปลี่ยน ของผู้ประกอบการเอง เพื่อนำไปสู่ ‘จุดเด่น’ ที่ไม่เหมือนใครของร้านคุณ
ที่มา : ข้อมูลจาก b2bframeworks