“ธุรกิจส่งออกอาหาร” ในประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน แต่กว่าจะเติบโตไปจนถึงขั้นนั้นได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสินค้าประเภทอาหาร มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการผลิตอาหาร ภายใต้ระบบการจัดการความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน
ISO 22000
ระบบการจัดการความปลอดภัยที่มีมาตรฐานเกี่ยวข้องกับอาหาร การวิเคราะห์ถึงอันตรายและจุดวิกฤตที่จำเป็นต้องได้รับการควบคุมในขั้นตอนการผลิตอาหาร มุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่ถูกผลิตภายใต้มาตรฐานอุตสาหกรรมโลก
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการให้สินค้าประเภทอาหารของตนเองสามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ ย่อมต้องการระบบที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อช่วยให้การค้าของตนราบรื่นขึ้น ซึ่งก็คือ ISO 22000 แล้วมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมอาหารนี้คืออะไร? จะช่วยธุรกิจของคุณได้อย่างไร?
| รู้จัก ISO 22000
เกิดจากผลฉันทามติของ 45 ประเทศ ที่ต้องการสร้างความสอดคล้องในทางปฏิบัติแก่ทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานอาหาร จึงมีการกำหนดมาตรฐานร่วมกันในระดับสากลขึ้นมา ISO 22000 จึงเป็นมาตรฐานที่บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของบริษัทภาคอุตสาหกรรมอาหาร ที่ได้รับการรับรองว่าสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคได้ โดยใช้ระบบจัดการคุณภาพ ISO 9001 มาเป็นพื้นฐาน และมีการนำระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร HACCP* เข้ามารวมอยู่ในมาตรฐานของ ISO 22000 ด้วย
*HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) ยึดหลักเกณฑ์ตามโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ประกอบด้วย 7 หลักการ ครอบคลุมถึงการป้องกันปัญหาจากอันตราย 3 สาเหตุ ได้แก่ อันตรายทางชีวภาพ (เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส) อันตรายจากสารเคมี (สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารปฏิชีวนะ สารเร่งโต สารกันบูด) อันตรายทางกายภาพ (เศษแก้ว โลหะ เศษไม้)
| ตรวจสอบเรื่องอะไรบ้าง
ระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารนี้ จะเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบกิจกรรมในอุตสาหกรรมอาหารโดยตรง ครอบคลุมไปถึงกระบวนการผลิต เกี่ยวเนื่องกับ Supply Chain ตลอดจนขั้นตอนการแปรรูป บรรจุ ไปจนถึงการขนส่ง และผู้ค้าปลีก โดยเน้นที่การสื่อสารร่วมกับระบบการจัดการและการควบคุมอันตราย มีวัตถุประสงค์เพื่อประกันว่ามีการกำหนดรายละเอียดการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม ทุกขั้นตอนจะต้องผ่านการตรวจสอบ เพื่อช่วยให้เกิดความปลอดภัยตลอดเส้นทางของห่วงโซ่อาหาร
การคัดเลือก Supply Chain ที่มีคุณภาพจะช่วยให้การขอรับรองมาตรฐาน ISO 22000 ง่ายมากขึ้น
| การควบคุมการผลิตอาหารดีอย่างไร
- เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค ซึ่งไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ก็ต้องใส่ใจในข้อนี้เป็นสำคัญ
- การผลิตอาหารจะได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ทรัพยากรถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า และลดต้นทุนลง ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น
- เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ องค์กร เพิ่มความน่าเชื่อถือต่อคู่ค้าและผู้บริโภคมากขึ้น
- ลดปัญหาการถูกกีดกันทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลก
| ประโยชน์ที่เจ้าของธุรกิจได้รับ
เพราะ ISO 22000 เป็นมาตรฐานโลกที่มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ผลิตในอุตสาหกรรมโลก หากผู้ประกอบการใดที่ต้องการเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก การขอรับรองมาตรฐานจาก ISO 22000 จะช่วยให้ธุรกิจอาหารของคุณสามารถส่งสินค้าไปสู่ตลาดโลกได้อย่างมั่นใจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น
ISO 22000 สามารถใช้ได้กับทุกองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ยิ่งเป็นองค์กรเล็ก ยิ่งมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก
| เอกสารประกอบการขอขึ้นทะเบียน
ผู้ประกอบการที่ต้องการยื่นคำร้องขอรับรองมาตรฐาน ISO 22000 สามารถศึกษาขั้นตอนการขอยื่นการรับรอง ระเบียบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ และเอกสารการยื่นขอการรับรองระบบ ตามข้อมูลจาก สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) โดยดาวน์โหลดเอกสารได้ตามรายการต่อไปนี้
-
- แบบฟอร์มร้องขอให้เสนอราคา Download
- ขั้นตอนการขอการรับรองระบบการจัดการ Download
- แบบฟอร์มคำขอการรับรองระบบ Download
- แบบฟอร์มข้อมูลเกี่ยวกับการรับรองระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร Download
- ข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองระบบการบริหารจัดการ Download
- การตรวจประเมินเพื่อการรับรองระบบการบริหารจัดการ Download
- แนวทางการดำเนินการในการปรับเปลี่ยนการรับรองระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร สู่มาตรฐาน ISO 22000:2018 Download
เนื่องจากปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมอาหารต้องยอมรับว่าก้าวหน้าไปมาก และมีแต่จะขยายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ใส่ใจในเรื่องอาหารการกินมากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจและพิถีพิถันมากกว่าแต่ก่อนมาก อีกทั้งด้วยปริมาณของประชากรที่มีมาก ความต้องการของผู้บริโภคก็เพิ่มจำนวนตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานในการดำเนินงาน เพื่อเน้นความปลอดภัยทางด้านอาหารในอุตสาหกรรมการผลิต และหากโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 22000 ที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ก็จะช่วยให้สินค้าไทยเดินเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายและน่าเชื่อถือในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
ที่มา : ข้อมูลจาก masci.or.th, tmbbank, positioningmag, chi.co.th
Pingback: Editor’s Talk : ISO 22000 – :: True Smart Merchant Academy ::