มีเฟสบุ๊กโพสต์หนึ่งของลูกค้าผู้ซื้อโจ๊กมากินในเช้าของวัน โจ๊กใส่ไข่ร้อนๆ สดๆ จากหม้อ ใส่ถุงพลาสติกพร้อมเขียนข้อความว่า “ไข่” จะได้รู้กันว่าถุงนั้นใส่ไข่แล้ว เพราะบางทีมองจากด้านนอกก็มองไข่ที่แอบอยู่ด้านในไม่เห็น ลูกค้าสาวผู้ที่กำลังแกะโจ๊กและเตรียมจะรับประทาน กลับสังเกตเห็นสีของโจ๊กขาวๆ กลับมีสีออกม่วงๆ ละม้ายคล้ายสีปากกาเคมีที่ทางร้านเขียนข้อความไว้ผสมอยู่กับอาหารด้วย
แล้วพอเทโจ๊กออกมา ก็พบว่าเป็นหมึกเจือปนจริง… ทำเอาอึ้งกันไปทั้งเจ้าตัว และหลายต่อหลายคอมเมนต์ทางโซเชียลที่เริ่มมีการเผยแพร่โพสต์ของเจ้าของกระทู้โพสต์นั้นออกไป

โพสต์โดย Facebook user
แล้วฝั่งพ่อค้าแม่ขายควรทำอย่างไรดีล่ะ? จากเหตุการณ์นี้เรามารู้ต้นสายปลายเหตุกันก่อน…
| เหตุเกิดจากปากกา
จากประเด็นความสงสัยนี้ มี Facebook fanpage “เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว” ได้อธิบายหลักการความเป็นไปได้ตามศาสตร์เคมี โดยกล่าวแบบง่ายๆ คือ ปากกาเคมี หรือชื่อทางการว่า Permanent Marker นั้น มีสารเคมีความเข้มข้นสูงที่ใช้เขียน และสูงมากพอที่จะทำให้เกาะติดผิวถุงพลาสติกได้ แม้ตัวถุงพลาสติกนั้นจะกั้นอะไรต่อมิอะไรจากอาหารได้มากอยู่ แต่เมื่อเป็นสารเคมีบางชนิดที่ละเลงบนผิวของมัน ดังเช่นถุงพลาสติกเจ้าปัญหาดังกล่าว เมื่อมาอยู่กับของร้อนและมวลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง โปรตีนจากไข่และเนื้อหมูสับที่ละลายอยู่ในน้ำซุปร้อนๆ ก็อาจทำให้เกิดการกระตุ้นและแพร่กระจายของสารในปากกาเคมีได้ จนบางทีก็สามารถข้ามฝั่งไปอยู่ในอาหารได้เลยตามภาพประกอบข้างต้น
| ปัญหาจากถุงพลาสติก ?
อาจมีพ่อค้าแม่ขายหลายท่านที่กำลังงงว่า ที่ร้านก็เขียนเป็นปกติมาตั้งนานแล้ว ทำไมไม่เห็นเป็นไรเลยล่ะ… นั่นเป็นเพราะมวลของถุงพลาสติกนั้น ‘หนากว่า’ ที่ร้านค้าตามข่าวนี้เลือกใช้ เนื่องจากถุงแกงบางชนิดเหนียวแน่นและหนามากพอที่หมึกปากกาไม่อาจซึมผ่านได้ง่ายๆ อย่างถุงใสผิวมันเงา เป็นต้น ซึ่งเท่าที่เห็นจาก Facebook fanpage “หมอแล็บแพนด้า” ก็ได้ทดลองด้วยการนำถุงแกงใส่โจ๊กร้อนแล้วละเลง Permanent Marker แบบจัดเต็มลงไป รวมถึงมีใส่เข้าเตาไมโครเวฟเพิ่มด้วย แต่หมึกจากปากกาเคมีกลับไม่เจือจางเดินทางข้ามฝั่งเหมือนกับถุงร้อนแบบที่ Facebook user ผู้นั้นประสบ อาจเป็นเพราะถุงที่ใช้ต่างประเภทกัน โดย Plasticity.in.th ได้อธิบายเป็นวิดีโอสั้นว่า ถุงร้อนแบบขุ่นทนต่อการเก็บอาหารร้อนไม่เท่าถุงร้อนแบบใส เนื่องจากวัสดุ PP ในถุงร้อนแบบใส ทนต่อความร้อนมากกว่า HDPE (ถุงที่เป็นข่าว) จึงทำให้หลายๆ ร้านที่เขียนข้อความลงบนถุงเหมือนกัน แต่ไม่เห็นหมึกซึมผ่านเหมือนในข่าวนั่นเอง
Tips: ถ้าเก็บอาหารแช่แข็ง ถุงขุ่น (HDPE) สามารถทนต่อความเย็นจัดกว่าแบบ ถุงใส (PP) ที่จะแตกตัวได้ง่าย
| แล้วร้านค้าควรหลีกเลี่ยงปัญหานี้อย่างไรดี ?
- ใช้กระดาษโน้ต ฟังดูไม่รักษ์โลกสักเท่าไร แต่การเขียนบนกระดาษนั้นทำให้มั่นใจได้ว่าสารเคมีบนปากกาจะไม่เจือปนลงไปกับอาหารแน่นอน ได้ความสบายใจมากขึ้นด้วย หรือลองเอากระดาษที่ใช้แล้วด้านเดียว นำอีกด้านหนึ่งมาใช้เขียนก็ได้เช่นกัน
- วางอาหารถุงลงบนถาดแยกประเภทชัดเจน อาจจัดถาดไว้วางอาหารเป็นกลุ่มก้อน แปะป้ายไว้ให้เห็นความแตกต่าง เพียงแค่ต้องระวังเรื่องการวางปะปนกันหรือถาดติดกันเกินไป จนอาจเข้าใจสลับกันได้
- เสิร์ฟอาหารแบบสดๆ สำหรับลูกค้าที่สะดวกพกกล่องพลาสติก ปิ่นโต ชาม ที่นำมาเอง โดยเป็นวิธีที่รักษ์โลกอย่างแท้จริง และง่ายที่สุด เพราะเสิร์ฟจากหม้อถึงภาชนะเลย
- เขียนบนถุงหูหิ้วแยกต่างหาก วิธีการนี้เหมาะแค่ลูกค้าที่ต้องการถุงหิ้วอาหารแบบแยกต่างหากอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดีวิธีนี้เป็นการใช้ทรัพยากรโดยสิ้นเปลืองมาก และเป็นไปได้ยากหากจะให้เลี่ยงขีดเขียนบนพลาสติก
อย่างไรก็ตาม ถุงพลาสติกแบบร้อนก็ยังถือว่าปลอดภัย อยู่ในกรอบการใช้งานที่ผู้ผลิตออกแบบไว้สำหรับอาหารร้อน แม้จะไม่ได้มีจุดประสงค์มาเพื่อให้เขียนปากกาเคมีบนถุงก็ตาม แต่เพื่อสุขอนามัยที่ดีของลูกค้า และความน่าเชื่อถือจากลูกค้า ก็เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับลูกค้าไม่น้อย และทางร้านเองก็ยังสามารถหาวิธีอื่นที่มีมากมายมาทดแทนได้ เพราะด้วยกระแสที่มีภาพประกอบให้เห็นชัดเจนขนาดนี้ ลูกค้ามีสิทธิ์เลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าเราอีก หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา ทางร้านเองก็จะได้ไม่คุ้มเสียเลย
ที่มา : ข้อมูลและภาพจาก Facebook user (ขอสงวนชื่อเจ้าของเฟสบุ๊ก), เพจเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว, เพจหมอแล็บแพนด้า / วิดีโอจาก Plasticity.in.th
Pingback: Editor’s Talk : โรตีดิบอันตราย – :: True Smart Merchant Academy ::